การระบาดของไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 เป็นการระบาดทั่วโลกของเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ ชนิดเอ เอช 1 เอ็น 1 สายพันธุ์ใหม่ หรือโดยทั่วไปมักเรียกว่า "ไข้หวัดหมู" เริ่มพบการระบาดตั้งแต่เดือนเมษายน พ.ศ. 2552 เป็นต้นมา แม้ว่าไวรัสประกอบด้วยการรวมกันของพันธุกรรมของเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ในมนุษย์ ในสัตว์ปีก และในสุกร รวมกับไวรัสไข้หวัดใหญ่สุกรยูเรเซีย ลักษณะที่แปลกประการหนึ่งของเชื้อเอช 1 เอ็น 1 คือ มักจะไม่ค่อยติดต่อสู่คนวัยชราอายุมากกว่า 60 ปี
ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ดังกล่าวมีการพบครั้งแรกในรัฐเวรากรูซ ประเทศเม็กซิโก และมีหลักฐานว่าโรคดังกล่าวได้มีการระบาดเป็นเวลานานนับเดือนก่อนจะมีการรับรองอย่างเป็นทางการ ถึงแม้ว่ารัฐบาลเม็กซิโกจะพยายามจะยับยั้งการระบาดของโรคด้วยการปิดสถานที่ราชการและเอกชนจำนวนมากแล้วก็ตาม แต่เชื้อก็ได้ระบาดอย่างรวดเร็วทั่วโลก จนเมื่อวันที่ 11 มิถุนายน พ.ศ. 2552 องค์การอนามัยโลกและศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคสหรัฐอเมริกา (CDC) ได้ประกาศให้ระดับการระบาดของเชื้อเป็น "โรคระบาดทั่ว"
ผู้ป่วยด้วยโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ส่วนใหญ่มีอาการเพียงเล็กน้อย แต่ก็มีบางรายมีอาการรุนแรงได้ โดยอาการของโรคเล็กน้อยได้แก่มีไข้ เจ็บคอ ไอ ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อหรือข้อต่อ และมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน หรืออาการท้องร่วง สำหรับผู้ที่มีความเสี่ยงที่จะมีอาการรุนแรง ได้แก่ ผู้ป่วยด้วยโรคหอบหืด เบาหวานโรคอ้วน โรคหัวใจ ผู้ที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง เด็กซึ่งมีภาวะทางพัฒนาการทางประสาท และสตรีมีครรภ์ อย่างไรก็ตาม กระทั่งผู้ซึ่งเคยมีสุขภาพดีก็มีความเสี่ยงที่จะเป็นปอดบวมหรือกลุ่มอาการหายใจลำบากในผู้ใหญ่ได้ ซึ่งจะมีอาการหายใจลำบากขึ้นและมักจะเกิดขึ้น 3-6 วันภายหลังเริ่มมีอาการของไข้หวัด
โรคดังกล่าวไม่มีการระบาดจากการรับประทานเนื้อสุกรหรือผลิตภัณฑ์จากสุกรแต่อย่างใด การระบาดของเอช 1 เอ็น 1 สามารถติดต่อระหว่างมนุษย์สู่มนุษย์ผ่านทางละอองของการหายใจ เช่นเดียวกับไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์อื่น อาการของโรคมักปรากฏเป็นเวลา 4-6 วัน จึงแนะนำให้ผู้ที่มีอาการพักผ่อนอยู่ที่บ้านและอยู่ห่างจากโรงเรียน ที่ทำงาน หรือสถานที่แออัด เพื่อหลีกเลี่ยงการแพร่ระบาดของโรค สำหรับผู้ซึ่งมีอาการรุนแรงหรืออยู่ในกลุ่มเสี่ยง ควรได้รับยาต้านไวรัส (โอเซลทามิเวียร์หรือซานามิเวียร์) ผู้เสียชีวิตที่ได้รับการยืนยันทั่วโลกมีจำนวนทั้งสิ้น 14,286 ราย อย่างไรก็ตาม จำนวนดังกล่าวเป็นผลรวมของรายงานจากหน่วยงานของรัฐต่าง ๆ ซึ่งองค์การอนามัยโลก ระบุว่า จำนวนที่แท้จริงนั้น "สูงกว่านี้"
จำนวนผู้ป่วยที่พบโรคนี้ลดจำนวนลงเรื่อย ๆ และวันที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2553 อธิบดีองค์การอนามัยโลก มาร์กาเร็ต แชน ได้ประกาศว่าการระบาดของไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 สิ้นสุดลงแล้ว ข้อมูลขององค์การอนามัยโลกระบุว่า มีผู้เสียชีวิตจากไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 มากกว่า 18,000 คนทั่วโลก
การระบาดในตอนเริ่มแรก สื่ออเมริกันเรียกโรคดังกล่าวว่า "ไข้หวัดใหญ่ เอช 1 เอ็น 1" ก่อนที่องค์การอนามัยโลกจะตั้งชื่ออย่างเป็นทางการว่า ไวรัสโรคระบาด เอช 1 เอ็น 1/09 ในขณะที่ CDC เรียกว่า "ไข้หวัดใหญ่ชนิดใหม่ ชนิดเอ (เอช 1 เอ็น 1)" หรือ "ไข้หวัดใหญ่ เอช 1 เอ็น 1 2009" ในเนเธอร์แลนด์ เดิมเรียกว่า "ไข้หวัดหมู" แต่ในปัจจุบัน สถาบันสุขภาพแห่งชาติได้เรียกว่า "ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ ชนิดเอ (เอช 1 เอ็น 1)" ถึงแม้ว่าในสื่อและประชาชนโดยทั่วไปจะใช้ชื่อว่า "ไข้หวัดใหญ่เม็กซิโก" ก็ตาม; เกาหลีใต้และอิสราเอล พิจารณาเรียกชื่ออย่างสั้น ๆ ว่า "ไวรัสเม็กซิโก" ในภายหลัง สื่อสัญชาติเกาหลีใต้ใช้ตัวย่อ "SI" ซึ่งย่อมาจาก "ไข้หวัดใหญ่ในสุกร" (Swine influrenza) ในไต้หวันใช้ชื่อว่า "ไข้หวัดเอช 1 เอ็น 1" หรือ "ไข้หวัดสายพันธุ์ใหม่" ซึ่งเป็นชื่อที่ใช้กันในสื่อท้องถิ่นจำนวนมากองค์การสุขภาพสัตว์โลกเสนอชื่อว่า "ไข้หวัดใหญ่อเมริกาเหนือ"คณะกรรมาธิการยุโรปใช้คำว่า "ไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่"
ส่วนในประเทศไทย ได้เคยมีการเรียกโรคดังกล่าวว่า "ไข้หวัดหมู" และ "ไข้หวัดใหญ่เม็กซิโก" ก่อนที่จะมีการเปลี่ยนชื่อเป็น "ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009" ในภายหลัง แต่ในปัจจุบัน มักจะย่อเป็น "ไข้หวัด 2009" หรือ "หวัดใหญ่ 2009"
ได้มีการประมาณว่า ประชากรโลกอย่างน้อย 5-15% ติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล ถึงแม้ว่าผู้ป่วยส่วนมากจะมีอาการไม่รุนแรงมากนัก แต่โรคระบาดดังกล่าวก็ยังก่อให้เกิดการเจ็บป่วยอย่างรุนแรงในประชากร 3-5 ล้านคน และมีผู้เสียชีวิตถึง 250,000-500,000 รายทั่วโลกทุกปี โดยเฉลี่ยแล้ว ทุกปีจะมีผู้เสียชีวิตในสหรัฐอเมริการาว 41,400 ราย ตามข้อมูลซึ่งเก็บรวบรวมระหว่าง พ.ศ. 2522-2544 ในประเทศอุตสาหกรรม ส่วนใหญ่อาการเจ็บป่วยอย่างรุนแรงและการเสียชีวิตเกิดขึ้นกับเด็กทารก ผู้สูงอายุ และผู้ป่วยอาการเรื้อรัง ซึ่งเป็นกลุ่มเสี่ยงสูง ถึงแม้ว่าการระบาดของไข้หวัดใหญ่ในสุกร (เช่นเดียวกับการระบาดของไข้หวัดใหญ่สเปน เมื่อปี พ.ศ. 2461) มีความแตกต่างกันบ้าง เนื่องจากไข้หวัดใหญ่ในสุกรมักจะติดต่อกับคนในวัยหนุ่มสาวและมีสุขภาพดี
นอกเหนือจากโรคระบาดประจำปีเหล่านี้ ไวรัสไข้หวัดใหญ่ชนิดเอยังก่อให้เกิดโรคระบาดทั่วโลกสามครั้งในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 20: ไข้หวัดใหญ่สเปน ในปี พ.ศ. 2461 ไข้หวัดใหญ่เอเชีย ในปี พ.ศ. 2500 และไข้หวัดใหญ่ฮ่องกง ในปี พ.ศ. 2511-2512 สายพันธุ์ไวรัสเหล่านี้ยังได้ผ่านการเปลี่ยนแปลงด้านพันธุกรรมครั้งใหญ่ ซึ่งประชากรโลกยังไม่มีภูมิคุ้มกันที่จำเป็น การศึกษาพันธุกรรมเมื่อเร็ว ๆ นี้ได้เปิดเผยว่า ส่วนพันธุกรรมกว่าสามในสี่หรือหกในแปดของสายพันธุ์ไข้หวัดใหญ่ระบาดทั่ว พ.ศ. 2552 เกิดขึ้นมาจากไข้หวัดใหญ่ในสุกรอเมริกาเหนือ ซึ่งได้เริ่มแพร่ระบาดตั้งแต่ปี พ.ศ. 2541 เมื่อสายพันธุ์ใหม่ถูกระบุชนิดเป็นครั้งแรกในโรงงานฟาร์มในรัฐนอร์ทแคโรไลนา เป็นไวรัสไข้หวัดใหญ่พันทางซึ่งรวมไวรัสกว่าสามสายพันธุ์
การแพร่ระบาดของไข้หวัดใหญ่สเปนเริ่มต้นจากระลอกแรกซึ่งมักจะไม่แสดงอาการรุนแรงมากนักในฤดูใบไม้ผลิ ก่อนที่ในระลอกต่อมาจะเป็นอันตรายถึงชีวิตในฤดูใบไม้ร่วง และทำให้มีผู้เสียชีวิตนับแสนคนในสหรัฐอเมริกา ผู้เสียชีวิตเกือบทั้งหมดจากการแพร่ระบาดของไข้หวัดใหญ่สเปนเป็นผลมาจากแบคทีเรียโรคปอดอักเสบ ไวรัสไข้หวัดใหญ่ได้ทำลายเยื่อบุกรองของถุงหลอดลมและปอดของเหยื่อ ทำให้แบคทีเรียโดยทั่วไปจากจมูกและลำคอแพร่เชื้อใส่ปอดของผู้ป่วย โรคระบาดทั่วในภายหลังมีอันตรายถึงตายน้อยลงเนื่องจากการพัฒนายาปฏิชีวนะซึ่งสามารถรับมือกับโรคปอดบวมได้
ไวรัสไข้หวัดใหญ่ยังได้ก่อให้เกิดภัยโรคระบาดทั่วหลายครั้งในศตวรรษที่ผ่านมา รวมทั้งโรคระบาดทั่วแบบไม่แท้ในปี พ.ศ. 2490 (ถึงแม้ว่าจะมีผลกระทบไม่มากนัก เนื่องจากแม้จะติดต่อกันไปทั่วโลก แต่ก็มีผู้เสียชีวิตเป็นจำนวนน้อย) การแพร่ระบาดของไข้หวัดใหญ่ในสุกร และไข้หวัดใหญ่รัสเซีย ในปี พ.ศ. 2520 ล้วนเกิดขึ้นจากไวรัสเอช 1 เอ็น 1 ทั่วโลกได้เพิ่มระดับการเฝ้าระวังนับตั้งแต่การแพร่ระบาดของโรคซาร์สในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (เกิดจากโคโรนาไวรัส ซาร์ส) ระดับของการเตรียมพร้อมได้เพิ่มขึ้นอีกและรับมือกับการแพร่ระบาดของ "ไข้หวัดนก" หรือไข้หวัดใหญ่ ชนิดเอ เอช 5 เอ็น 1 เนื่องจากเป็นสายพันธุ์ที่มีอัตราการเสียชีวิตสูง แต่สายพันธุ์ดังกล่าวมีอัตราการติดต่อจากคนสู่คนหรืออัตราการแพร่ระบาดในระดับโลกต่ำ
ผู้ซึ่งติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ก่อนหน้าปี พ.ศ. 2500 ดูเหมือนว่าจะมีภูมิคุ้มกันบางอย่างต่อไข้หวัดใหญ่ในสุกรได้ ดร. เดเนียล เจอร์นิแกนแห่ง CDC กล่าวว่า: "ผลการทดสอบบนเซรุ่มเลือดจากผู้สูงอายุแสดงว่าพวกเขามีแอนตีบอดีที่สามารถโจมตีไวรัสชนิดใหม่ได้ [...] แต่ไม่ได้หมายความว่าผู้ที่มีอายุมากกว่า 55 ปีทุกคนจะมีภูมิคุ้มกันต่อโรคโดยสมบูรณ์ นับตั้งแต่ผู้สูงอายุชาวอเมริกันและเม็กซิกันได้เสียชีวิตจากไข้หวัดใหญ่ชนิดใหม่นี้"
อาการป่วยของผู้ที่ได้รับเชื้อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 จะไม่แตกต่างจากผู้ที่ป่วยด้วยโรคไข้หวัดทั่ว ๆ ไป ซึ่งอาจมีอาการไข้ขึ้นสูง ไอ ปวดศีรษะ เจ็บตามกล้ามเนื้อและข้อต่อ หนาวสั่น ปวดเมื่อย และคัดจมูก ส่วนอาการท้องร่วง อาเจียนและอาการทางประสาทอาจมีการรายงานในผู้ป่วยบางกรณี ผู้ซึ่งมีความเสี่ยงสูงจากโรคแทรกซ้อนที่มีอาการรุนแรง ได้แก่ ผู้ซึ่งมีอายุ 65 ปีขึ้นไป เด็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบ เด็กซึ่งมีอาการทางประสาท สตรีมีครรภ์ (โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สามเดือนก่อนคลอด) และผู้ที่มีโรคประจำตัว อย่างเช่น โรคหืด โรคเบาหวาน โรคอ้วน โรคหัวใจ หรือภูมิคุ้มกันบกพร่อง ตัวเลขจาก CDC ระบุว่า จำนวนผู้ป่วยที่ต้องเข้ารับการรักษาพยาบาลในโรงพยาบาลในสหรัฐอเมริกามากกว่าร้อยละ 70 คือ ผู้ที่มีโรคประจำตัว
เมื่อเดือนกันยายน พ.ศ. 2552 CDC รายงานว่าไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 "ดูเหมือนจะติดต่อในเด็กซึ่งป่วยเรื้อรังมากกว่าไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาลโดยปกติ" และจากจำนวนเด็กซึ่งเสียชีวิตจนถึงปัจจุบัน เกือบสองในสามเคยมีความผิดปกติทางระบบประสาท "เด็กซึ่งมีปัญหาทางประสาทและกล้ามเนื้ออาจเสี่ยงสูงต่อภาวะแทรกซ้อนได้"
องค์การอนามัยโลกรายงานว่าลักษณะอาการของผู้ป่วยรุนแรงนั้นมีความแตกต่างจากลักษณะที่พบในการระบาดของไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาลอย่างมาก เป็นที่รู้กันโดยทั่วไปว่าผู้มีโรคประจำตัวจะเสี่ยงติดโรคติดต่อมากขึ้น แต่ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 กลับแสดงอาการรุนแรงในผู้ป่วยซึ่งเคยมีสุขภาพดีมากกว่าในผู้มีโรคประจำตัว ซึ่งในปัจจุบัน ปัจจัยเพิ่มความเสี่ยงของการแสดงอาการเจ็บป่วยอย่างรุนแรงในผู้ป่วยเหล่านี้ยังคงอยู่ในระหว่างการวิจัย ในกรณีที่แสดงอาการรุนแรง ผู้ป่วยมักจะเริ่มจากมีอาการทรุดลงราว 3-5 วัน หลังจากเริ่มสังเกตเห็นอาการของโรค สุขภาพของผู้ป่วยจะทรุดหนักลงอย่างรวดเร็ว ซึ่งในช่วงนี้ ผู้ป่วยจำนวนมากมักจะประสบกับความล้มเหลวของระบบหายใจภายใน 24 ชั่วโมง ซึ่งต้องการรักษาในห้องไอซียูอย่างเร่งด่วน และต้องการการช่วยหายใจเชิงกล
คำแนะนำ CDC รายงานว่าอาการแสดงต่อไปนี้คือ "อาการแสดงเตือนฉุกเฉิน" (emergency warning sign) และแนะนำให้ผู้ป่วยที่มีอาการแสดงอย่างใดอย่างหนึ่งตามรายชื่อนี้ไปรับการรักษากับแพทย์โดยด่วน:
กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบขั้นรุนแรง (fulminant myocarditis) มีความสัมพันธ์กับการติดเชื้อเอช 1 เอ็น 1 โดยมีรายงานที่ได้รับการยืนยันแล้วอย่างน้อย 4 กรณี ในผู้ป่วยซึ่งติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ชนิดเอ เอช 1 เอ็น 1 ผู้ป่วย 3 จาก 4 ราย ซึ่งมีกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบที่สัมพันธ์กับการติดเชื้อเอช 1 เอ็น 1 มีอาการถึงขั้นรุนแรง และหนึ่งในผู้ป่วยได้เสียชีวิต นอกจากนี้ยังดูเหมือนว่ามีความเชื่อมโยงระหว่างการติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ชนิดเอ เอช 1 เอ็น 1 อย่างรุนแรงกับภาวะสิ่งหลุดอุดหลอดเลือดปอด (pulmonary embolism) ในรายงานฉบับหนึ่ง มีการรับผู้ป่วย 5 ราย จาก 14 ราย เข้าสู่หน่วยรักษาพยาบาลผู้ป่วยขั้นวิกฤต ด้วยอาการติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ชนิดเอ เอช 1 เอ็น 1 อย่างรุนแรง และมีภาวะสิ่งหลุดอุดหลอดเลือดปอด
การวินิจฉัยและยืนยันโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ซึ่งเกิดจากไข้หวัดใหญ่ เอช 1 เอ็น 1/09 ต้องการการตรวจเยื่อซับคอหอยส่วนจมูกหรือคอหอยส่วนปากจากผู้ป่วย การทดสอบแบบ Real-time RT-PCR เป็นการทดสอบที่ได้รับการแนะนำ เพราะเป็นการตรวจที่สามารถแยกแยะความแตกต่างระหว่างไข้หวัดใหญ่เอช 1 เอ็น 1/09 จากไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาลได้
อย่างไรก็ตาม ผู้มีอาการของไข้หวัดใหญ่ส่วนใหญ่ไม่จำเป็นจะต้องทดสอบโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 โดยเฉพาะ เพราะโดยปกติแล้ว ผลการทดสอบมักจะไม่กระทบต่อแนวทางการรักษาที่แพทย์แนะนำแต่อย่างใด CDC แนะนำให้ผู้ที่ควรเข้ารับการตรวจ ได้แก่ ผู้ซึ่งพักรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลเนื่องจากต้องสงสัยว่าติดโรคไข้หวัด สตรีมีครรภ์ และผู้ที่มีระบบภูมิคุ้มกันบกพร่องเท่านั้น สำหรับการวินิจฉัยโรคเพิ่มเติมของไข้หวัดใหญ่ นอกเหนือจากไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 สามารถพบได้ในวงกว้างกว่า ซึ่งรวมถึงการทดสอบวินิจฉัยโรคไข้หวัดใหญ่อย่างรวดเร็ว (RIDT) ซึ่งได้รับผลการทดสอบภายใน 30 นาที และการสอบด้วยวิธีการอิมมูโนฟลูออเรสเซนต์โดยตรงและโดยอ้อม (DFA และ IFA) ซึ่งใช้เวลาราว 2-4 ชั่วโมง เนื่องจากอัตราการผิดพลาดของการทดสอบ RIDT อยู่ในระดับสูง CDC จึงแนะนำให้ผู้ป่วยซึ่งมีอาการใกล้เคียงกับการติดไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 แต่มีผลการทดสอบ RIDT เป็นลบ ควรจะได้รับการรักษาตามการสังเกต ขึ้นอยู่กับคำแนะนำของแพทย์ โรคประจำตัว ความรุนแรงของอาการ และอัตราเสี่ยงต่ออาการแทรกซ้อน และถ้าหากต้องการตรวจสอบการติดเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ให้ชัดเจนยิ่งขึ้น ควรจะทดสอบด้วย rRT-PCR หรือการแยกเพาะเลี้ยงเชื้อไวรัส
ดร. รอนดา มีดอวส์แห่งกรมสาธารณสุขจอร์เจีย กล่าวว่า การทดสอบอย่างรวดเร็วมีโอกาสผิดพลาดระหว่าง 30-90% ไม่ว่าจะทำการทดสอบที่ใดก็ตาม เธอได้เตือนแพทย์ในประเทศมิให้ใช้การทดสอบไข้หวัดใหญ่อย่างรวดเร็ว เนื่องจากได้ผลผิดพลาดออกมาบ่อยครั้ง นักวิจัย พอล เชร็คเคนเบอร์เกอร์ แห่งระบบสาธารณสุข มหาวิทยาลัยโลโยลา ยังตั้งคำถามใช้ RIDT ด้วย เขาเป็นผู้เสนอว่า อันที่จริงแล้ว ตัวการทดสอบอย่างรวดเร็วนี้อาจเป็นความเสี่ยงที่อันตรายต่อสาธารณสุขโดยรวมด้วยซ้ำไป ดร. นิคคิ ชินโดแห่งองค์การอนามัยโลกได้แสดงความเสียใจที่มีรายงานว่ามีการรักษาซึ่งล่าช้าเนื่องจากรอผลการทดสอบ เอช 1 เอ็น 1 และเสนอว่า "แพทย์ไม่ควรรอการยืนยันจากห้องปฏิบัติการ แต่ควรใช้การวินิจฉัยโรคโดยใช้อาการทางคลินิกและข้อมูลพื้นฐานทางวิทยาการระบาด และเริ่มการรักษาอย่างรวดเร็ว"
ไวรัสที่ก่อให้เกิดไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 เป็นไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ซึ่งการให้วัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาลที่มีในปัจจุบันช่วยเพิ่มการป้องกันโรคได้เพียงเล็กน้อยเท่านั้น จากการศึกษาของ CDC เมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2552 ค้นพบว่า เด็กไม่มีภูมิคุ้มกันต่อไวรัสดังกล่าวเลย แต่ในผู้ใหญ่ และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้มีอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป พอจะมีภูมิคุ้มกันต่อโรคอยู่บ้าง ไม่มีการสร้างแอนติบอดีที่แสดงปฏิกิริยาข้ามกันมามีผลกับไวรัสสายพันธุ์ใหม่นี้ในเด็ก ในขณะที่ผู้ใหญ่อายุ 18-64 ปี มีการสร้าง 6-9% และผู้ที่อายุมากกว่านั้นมีการสร้าง 33% จึงมีการพิจารณาว่าไวรัสสายพันธุ์ใหม่นี้มียีนจากไวรัสไข้หวัดใหญ่ห้าชนิดประกอบกัน: ไวรัสไข้หวัดใหญ่ในสุกรทวีปอเมริกาเหนือ ไข้หวัดนกทวีปอเมริกาเหนือ ไข้หวัดใหญ่ในมนุษย์ และไข้หวัดใหญ่ในสุกรทวีปเอเชียและทวีปยุโรป การวิเคราะห์ยังได้แสดงให้เห็นถึงโปรตีนของไวรัสมีความคล้ายคลึงกับโปรตีนในสายพันธุ์ที่ก่อให้เกิดอาการไม่รุนแรงในมนุษย์ เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2552 นักวิทยาไวรัส เวนดี บาร์เคลย์ กล่าวว่า จากการแสดงอาการในช่วงแรกของไวรัสพบว่ามีลักษณะที่ไม่น่าจะก่อให้เกิดอาการรุนแรงในมนุษย์ส่วนมากได้เลย
ในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2552 CDC หมายเหตุว่า การติดเชื้อส่วนใหญ่ก่อให้เกิดอาการไม่รุนแรง ซึ่งมีลักษณะคล้ายกับไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล การฟื้นตัวของผู้ป่วยค่อนข้างเร็วและการเสียชีวิตจนถึงปัจจุบันเป็นเพียงตัวเลขน้อยมากเมื่อเทียบกับผู้ซึ่งเสียชีวิตจากไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน ไวรัสได้ติดต่อ 1 ใน 6 ของชาวอเมริกัน โดยมี 200,000 คน ต้องเข้ารักษาในโรงพยาบาล และมีผู้เสียชีวิตกว่า 10,000 คน แม้จะมีผู้เข้ารับการรักษาจำนวนมากและมีผู้เสียชีวิตจำนวนน้อยกว่าโรคไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาลโดยทั่วไป แต่ในหลายครั้งที่ผู้มีอายุน้อยกว่า 50 ปีจะมีความเสี่ยงมากกว่า นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยแมริแลนด์ได้ผสมไข้หวัดใหญ่ในสุกรกับไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล และสรุปว่า ไข้หวัดใหญ่ในสุกรไม่น่าจะมีอันตรายไปกว่านี้แล้ว
ส่วนในด้านโอกาสความเป็นไปได้หรือประวัติศาสตร์ของไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ เอช 1 เอ็น 1 เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2552 บทความในวารสารการแพทย์นิวอิงแลนด์ได้กล่าวว่า "เอช 1 เอ็น 2 และแบบชนิดย่อยอื่นอาจสืบเชื้อสายมาจากไวรัสสุกร เอช 3 เอ็น 2 ซึ่งมีการผสมสายพันธุ์ในทวีปอเมริกาเหนือ ไวรัสดังกล่าวได้แพร่ไปสู่สุกรรอบโลก และพบว่ามีการติดต่อสู่มนุษย์ด้วย อย่างไรก็ตาม ส่วนที่ประกอบขึ้นสำหรับ นิวรามินิเดสและโปรตีนเมตริกซ์ของไวรัสเอช 1 เอ็น 1 สายพันธุ์ใหม่ในมนุษย์มีความเกี่ยวข้องกับไวรัสไข้หวัดใหญ่ในสุกรท้องถิ่นในทวีปยุโรป ซึ่งพบเมื่อต้นคริสต์ทศวรรษ 1990"
เป็นที่เชื่อกันว่า การแพร่ระบาดของไวรัสเอช 1 เอ็น 1 เกิดขึ้นในวิธีเดียวกับการแพร่ระบาดของไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล โดยส่วนใหญ่ ไวรัสไข้หวัดใหญ่แพร่ระบาดจากคนสู่คนผ่านทางการไอหรือการจามของผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่ ในบางครั้ง ก็อาจรวมไปถึงการสัมผัสกับบางสิ่งซึ่งมีไวรัสไข้หวัดใหญ่อยู่บริเวณนั้น แล้วไปสัมผัสกับปากหรือจมูกของตนเองได้อีกทางหนึ่งด้วยค่าความเร็วในการแพร่กระจายของเชื้อไวรัส (ค่าตัวเลขซึ่งระบุว่ามีผู้ติดเชื้อจะสามารถแพร่เชื้อไปยังบุคคลอื่นได้มากเพียงใด ในประชากรซึ่งไม่มีภูมิคุ้มกันต่อโรค) ต่อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ เอช 1 เอ็น 1 พ.ศ. 2552 ถูกประเมินไว้ที่ 1.75
ไวรัสเอช 1 เอ็น 1 ยังสามารถติดต่อสู่สัตว์ รวมทั้งสุกร ไก่งวง เฟอร์เร็ต แมวเลี้ยงและเสือชีตาห์ได้
การระบาดทั่วของโรคนั้นมีการคาดการณ์ว่าจะถึงจุดสูงสุดราวกลางฤดูหนาวในซีกโลกเหนือ CDC ได้แนะนำว่า ขนาดยาวัคซีนในขั้นแรกควรจะนำไปฉีดให้กับกลุ่มที่ต้องการเป็นพิเศษ อย่างเช่น สตรีมีครรภ์ บุคคลผู้อาศัยหรือเลี้ยงดูทารกอายุต่ำกว่า 6 เดือน เด็กซึ่งมีอายุระหว่าง 6 เดือน - 4 ปี และเจ้าหน้าที่ด้านสาธารณสุข ในสหราชอาณาจักร NHS ได้ให้คำแนะนำทำนองเดียวกัน โดยแนะนำให้ใช้กับบุคคลอายุมากกว่า 6 ปีซึ่งเสี่ยงต่อโรคไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล และคนในครอบครัวซึ่งมีภูมิคุ้มกันไม่สมบูรณ์
ถึงแม้ว่าในตอนแรกจะมีการคาดการณ์ว่าการฉีดวัคซีนต้องการการฉีด 2 ครั้ง แต่กรณีในการรักษาแสดงออกมาว่าวัคซีนของไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 นั้น ป้องกันผู้ใหญ่เฉพาะ "ยาโดสเดียว แทนที่จะเป็นสองโดส" ดังนั้น ปริมาณวัคซีนที่จำกัดน่าจะกระจายไปได้ไกลเป็น 2 เท่าจากที่เคยทำนายไว้ ค่าใช้จ่ายจะลดลงโดยมี "วัคซีนที่มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น" สำหรับเด็กซึ่งมีอายุต่ำกว่า 10 ปี ได้มีการแนะนำให้ฉีดวัคซีน 2 ครั้ง แต่ละครั้งห่างกัน 21 วัน อย่างไรก็ตาม ไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาลยังต้องการวัคซีนแยกต่างหากจากไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009
หน่วยงานด้านสาธารณสุขทั่วโลกเป็นกังวลเช่นกัน เนื่องจากเชื้อเป็นไวรัสชนิดใหม่ ซึ่งสามารถกลายพันธุ์และทวีความรุนแรงขึ้นได้ ถึงแม้ว่าอาการของไข้หวัดใหญ่ส่วนใหญ่จะไม่รุนแรงนักและกินเวลาเพียงไม่กี่วันโดยไม่ต้องเข้ารับการรักษา หน่วยงานรัฐบาลยังกระตุ้นให้ประชาคม ธุรกิจและปัจเจกชนในการเตรียมการสำหรับความเป็นไปได้ที่อาจมีการปิดโรงเรียน กรณีลูกจ้างจำนวนมากลางานเพราะการเจ็บป่วย ปริมาณของผู้ป่วยที่เข้ารักษาในโรงพยาบาลที่ไม่คงที่ และผลกระทบอย่างอื่นของการระบาดในวงกว้างที่สามารถเป็นไปได้
ในการรับมือกับไวรัส องค์การอนามัยโลกและรัฐบาลสหรัฐเร่งการรณรงค์วัคซีนขนานใหญ่เมื่อปลาย พ.ศ. 2552 ซึ่งนับว่าเป็นครั้งใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่หลังจากการค้นพบวัคซีนป้องกันโรคโปลิโอ เมื่อปี พ.ศ. 2498
เมโยคลินิกแนะนำมาตรการส่วนบุคคลเพื่อป้องกันการติดไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล ซึ่งสามารถปรับใช้กับการระบาดของไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ได้ คือ ฉีดวัคซีนเมื่อสามารถหาได้ การล้างมือบ่อย ๆ และทั่วถึง การรับประทานอาหารซึ่งมีผลไม้และผักสด ธัญพืชทั้งเมล็ด และโปรตีนไขมันต่ำ รวมทั้งการนอนหลับอย่างเพียงพอ การออกกำลังกายเป็นกิจวัตร และการหลีกเลี่ยงฝูงชนขนาดใหญ่ การสูบบุหรี่เพิ่มความเสี่ยงติดไข้หวัดใหญ่ รวมทั้งทำให้อาการของโรครุนแรงยิ่งขึ้น ในเมลเบิร์น ประเทศออสเตรเลีย ผู้เข้ารับการรักษาของไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ที่ไม่มีปัจจัยเสี่ยงที่ระบุได้เป็นผู้สูบบุหรี่
เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552 ใน 16 ประเทศ ได้มีการผลิตวัคซีนมากกว่า 65 ล้านโดส; ซึ่งดูเหมือนว่าวัคซีนดังกล่าวจะปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ และน่าจะสร้างภูมิคุ้มกันโรคที่แข็งแรงซึ่งควรจะสามารถตอบสนองการติดเชื้อได้วัคซีนไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาลในช่วงที่เกิดการระบาดไม่มีผลต่ออัตราการติดเชื้อ เอช 1 เอ็น 1 เนื่องจากไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่นี้มีลักษณะที่แตกต่างจากสายพันธุ์ในวัคซีนดังกล่าว ในภาพรวม ความปลอดภัยของวัคซีนไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 เหมือนกับความปลอดภัยวัคซีนไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล และจากข้อมูลจนถึงเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2552 ก็มีรายงานของการเกิดกลุ่มอาการกิลแลง-บาร์เรหลังรับวัคซีนไม่ถึง 12 ราย มีเพียงกรณีจำนวนน้อยเท่านั้นที่ได้รับรายงานเกี่ยวข้องกับการได้รับวัคซีนเอช 1 เอ็น 1 และมีเพียงอาการเจ็บป่วยชั่วคราวเท่านั้นที่ตรวจพบ ซึ่งมีความแตกต่างกันอย่างชัดเจนกับการระบาดของไข้หวัดใหญ่ในสุกร ค.ศ. 1976 หลังจากการฉีดวัคซีนขนานใหญ่ในสหรัฐอเมริกาก่อให้เกิดโรคที่มีความผิดปกติของเส้นประสาทส่วนปลายกว่า 500 กรณี และมีผู้เสียชีวิต 25 คน
อย่างไรก็ตาม ได้มีความกังวลทางด้านความปลอดภัยสำหรับผู้ซึ่งเป็นภูมิแพ้ต่อไข่ เนื่องจากไวรัสสำหรับวัคซีนนั้นถูกเพาะเชื้อในไข่ไก่ บุคคลผู้เป็นภูมิแพ้ต่อไข่อาจสามารถได้รับวัคซีน หลังจากการปรึกษาระหว่างบรรดาแพทย์ โดยใช้ยาที่ได้รับการคัดเลือกในสภาพแวดล้อมซึ่งมีการควบคุมอย่างระมัดระวัง วัคซีนซึ่งผลิตโดยแบกซเตอร์ เป็นวัคซีนซึ่งไม่ใช้ไข่ในการผลิต แต่ต้องฉีดวัคซีน 2 ครั้ง ห่างกัน 3 สัปดาห์ เพื่อสร้างภูมิคุ้มกัน
เมื่อปลายเดือนพฤศจิกายน ในประเทศแคนาดา มีรายงานกรณีผู้ป่วย 24 กรณี ซึ่งมีภาวะช็อกจากการแพ้หลังจากได้รับวัคซีน รวมทั้งมีผู้เสียชีวิต 1 คน ในภายหลัง จึงประมาณว่าปฏิกิริยาแพ้ 1 คน ในผู้ได้รับวัคซีน 312,000 คน อย่างไรก็ตาม มีวัคซีนจำพวกหนึ่งซึ่งอัตราการแพ้อยู่ที่ 6 คน ต่อผู้ได้รับวัคซีน 157,000 คน ทำให้วัคซีนชนิดดังกล่าวกำลังอยู่ในระหว่างการสืบสวนที่ยังค้างคาอยู่ ดร.เดวิด บัทเลอร์-โจนส์ ประธานเจ้าหน้าที่สาธารณสุขของแคนาดา ได้กล่าวว่า แม้ว่านี่จะเป็นวัคซีนตัวเสริมเท่านั้น ซึ่งไม่ปรากฏว่าจะเป็นสาเหตุของปฏิกิริยาการแพ้อย่างรุนแรงในผู้ป่วยทั้ง 6 กรณีนั้น
เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2552 ผู้ผลิต ซาโนฟี-อเวนติส ได้เรียกคืนวัคซีนสำหรับเด็กกว่า 800,000 โดส ในสหรัฐอเมริกา เนื่องจากมีประสิทธิภาพที่ค่อนข้างต่ำ วัคซีนดังกล่าวประกอบด้วยกระบอกฉีดก่อนบรรจุจำนวน 4 ล็อท สำหรับเด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี CDC กล่าวว่า เด็กซึ่งได้รับวัคซีนชนิดนี้ไม่ต้องได้รับวัคซีนอีกครั้ง ตรงกันข้ามกับคำแนะนำที่เคยให้ก่อนหน้าที่ระบุว่า เด็กอายุต่ำกว่า 9 ปีควรจะได้รับวัคซีน 2 โดส ห่างกันเป็นเวลา 1 เดือน เพื่อการตอบสนองภูมิคุ้มกันที่เหมาะที่สุด สำหรับเด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี วัคซีนสามารถหาได้จากมัลติโดสขวดเล็ก ซึ่งบรรจุสารกันเสียที่ใช้ในวัคซีน ทว่าสารดังกล่าวกำลังตกเป็นประเด็นการโต้เถียงกันของสื่อถึงความเชื่อมโยงกับโรคออทิซึม แต่แนวคิดดังกล่าวก็ยังไม่ได้รับการพิสูจน์ สำหรับเด็กที่มีอายุมากกว่า 2 ปี สเปรย์จมูกสำหรับวัคซีนที่ใช้เชื้อฤทธิ์อ่อนที่มีชีวิตอยู่ก็สามารถหาได้เช่นกัน
มี 12 ประเทศ และผู้ผลิตวัคซีน 6 ราย ซึ่งรับประกันว่าจะบริจาควัคซีนจำนวน 180 ล้านโดสให้กับประเทศกำลังพัฒนา ในการประชุมหนังสือพิมพ์เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม ดร.เคอิจิ ฟุคุดะ กล่าวว่า องค์การอนามัยโลกหวังว่าการขนส่งวัคซีนดังกล่าวจะเริ่มขึ้นอีกภายในไม่กี่สัปดาห์หลังจากนี้
เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม องค์การอนามัยโลกกล่าวว่า การจำกัดการเดินทางของประชากรนั้นไม่อาจกระทำได้ และแต่ละประเทศควรมุ่งความสนใจไปยังการบรรเทาผลกระทบของไวรัสแทน องค์การอนามัยโลกยังไม่แนะนำให้ปิดพรมแดนหรือควบคุมการขนส่ง เมื่อวันที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2552 รัฐบาลจีนประกาศว่าผู้ที่มาจากพื้นที่ซึ่งได้รับผลกระทบของไข้หวัดใหญ่และมีอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ภายในสองสัปดาห์จะต้องได้รับการกักกันโรค
สายการบินส่วนใหญ่ของสหรัฐอเมริกายังไม่มีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่เมื่อตอนต้นของเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2552 แต่ก็ได้ดำเนินมาตรการรับมือที่แน่นอนรวมทั้งการตรวจดูผู้โดยสารซึ่งมีอาการของไข้หวัดใหญ่ โรคหัด หรือโรคติดต่ออื่น ๆ และอาศัยเครื่องกรองอากาศภายในเครื่องบินเพื่อทำให้แน่ใจว่าปราศจากเชื้อโรคในเครื่องบิน หน้ากากยังมิได้มีการจัดหาให้ในสายการบินโดยทั่วไป และ CDC ก็ไม่ได้แนะนำเป็นพิเศษให้ลูกเรือบนเครื่องบินสวมใส่หน้ากากแต่อย่างใด สายการบินนอกสหรัฐอเมริกาบางแห่ง ส่วนใหญ่เป็นสายการบินในทวีปเอเชีย ได้แก่ สิงคโปร์แอร์ไลน์ ไชนาอีสเติร์นแอร์ไลน์ คาเธย์แปซิฟิก และเมซิกานาแอร์ไลน์ ได้ใช้มาตรการ อย่างเช่น การทำความสะอาดห้องโดยสาร การติดตั้งเครื่องกรองอากาศที่ทันสมัย และให้ลูกเรือสวมหน้ากากอนามัย
การระบาดของไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 นำไปสู่การปิดโรงเรียนหลายแห่งเพื่อป้องกันการระบาดในหลายประเทศ แต่ CDC มิได้แนะนำให้ปิดโรงเรียน เพียงแต่ออกมาแนะนำเมื่อเดือนสิงหาคมให้นักเรียนและลูกจ้างของโรงเรียนซึ่งมีอาการของไข้หวัดใหญ่ให้อาศัยอยู่ที่บ้านเป็นเวลาราว 7 วัน หรือหลังไม่มีอาการแล้ว 24 ชั่วโมง นอกจากนั้น CDC ยังกระตุ้นให้โรงเรียนยกเลิกกฎบางข้อไปก่อน เช่น การทำโทษเมื่อส่งการบ้านหลังกำหนด หรือการขาดเรียน หรือการตรวจสอบใบรับรองแพทย์ เพื่อให้นักเรียนหลีกเลี่ยงการอยู่ในที่ชุมชนและป้องกันการแพร่ระบาดของโรคได้อีกทางหนึ่ง โรงเรียนยังได้รับคำแนะนำให้ผู้มีอาการไข้หวัดใหญ่อยู่ในห้องต่างหากเพื่อรอกลับบ้านและให้ผู้ป่วยสวมใส่หน้ากากผ่าตัดเพื่อควบคุมโรค
ในสหรัฐอเมริกา กระทรวงสาธารณสุขร่วมกับศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคระบาด (CDC) ได้พัฒนาคำแนะนำที่ทันสมัย และวิดีโอสำหรับพนักงานเพื่อใช้ดังที่พวกเขาพัฒนาหรือพิจารณาและปรับปรุงแผนการรับมือกับไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ให้ทันสมัยยิ่งขึ้น คำแนะนำดังกล่าวมีใจความว่าพนักงานควรพิจารณาและติดต่อสื่อสารเป้าหมายของตน ซึ่งอาจส่งผลให้ลดการติดเชื้อกันระหว่างเจ้าหน้าที่ ป้องกันผู้ที่มีความเสี่ยงต่ออาการที่เกี่ยวข้องกับไข้หวัดใหญ่จากการติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ รักษาการดำเนินการทางธุรกิจและลดผลกระทบกับสิ่งอื่นในห่วงโซ่อุปทาน
CDC ประมาณการว่ามีแรงงานกว่า 40% ในสหรัฐอเมริกา อยู่ในความเสี่ยงที่จะไม่สามารถทำงานได้เมื่อการระบาดของโรคขึ้นสู่จุดสูงสุด เนื่องจากมีความจำเป็นที่ผู้ใหญ่สุขภาพดีจำนวนมากจะต้องอาศัยอยู่กับบ้านและคอยดูแลสมาชิกในครอบครัวที่ป่วยด้วยโรคดังกล่าว และแนะนำว่าแต่ละคนควรมีแผนการสำรองเมื่อที่ทำงานปิดทำการหรือสถานการณ์เลวร้ายลงจนต้องทำงานจากที่บ้าน CDC ยังได้แนะนำต่อไปว่าบุคคลในสถานที่ทำงานควรอาศัยอยู่บ้านเป็นเวลาเจ็ดวันหลังจากได้รับหวัด หรือ 24 ชั่วโมงหลังไม่ปรากฏอาการของโรคอีก ในสหราชอาณาจักร คณะกรรมการจัดการสุขภาพและความปลอดภัย (HSE) ก็ได้ออกคู่มือแนะนำการปฏิบัติตนเบื้องต้นสำหรับพนักงานด้วยเช่นกัน
CDC ไม่ได้แนะนำให้มีการใช้หน้ากากอนามัยหรือเครื่องช่วยหายใจในสถานที่ซึ่งไม่เกี่ยวกับสาธารณสุข อย่างเช่น โรงเรียน ที่ทำงาน หรือในที่สาธารณะ แต่มีข้อยกเว้นบางประการ: บุคคลที่ป่วยควรพิจารณาตนเองและใส่หน้ากากเมื่ออยู่ใกล้กับผู้อื่น และบุคคลที่มีความเสี่ยงต่ออาการป่วยรุนแรงขณะดูแลผู้ที่ติดเชื้อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 แต่ก็มีความไม่เห็นด้วยเกี่ยวกับค่านิยมของการสวมใส่หน้ากากอนามัย ผู้เชี่ยวชาญบางคนกังวลว่าหน้ากากอาจทำให้ประชาชนมีความเห็นที่ผิดเกี่ยวกับความปลอดภัยและมองข้ามมาตรการป้องกันล่วงหน้าอื่น ๆ หน้ากากอนามัยอาจเป็นประโยชน์แก่ผู้ที่สัมผัสกับผู้ติดเชื้อในระยะใกล้ แต่ก็ยังไม่ทราบแน่ชัดว่าการกระทำดังกล่าวสามารถป้องกันเชื้อได้จริง ยุกิฮิโร นิชิยามา ศาสตราจารย์ทางด้านวิทยาไวรัสของแผนกการแพทย์ของมหาวิทยาลัยนาโกยา แนะนำว่าหน้ากากอนามัย "สวมไว้ดีกว่าไม่ทำอะไรเลย แต่ก็เป็นการยากที่จะป้องกันไวรัสที่ติดต่อทางอากาศเช่นกัน เพราะมันสามารถแทรกตัวผ่านช่องว่างได้ง่าย ๆ" และตามคำอธิบายของผู้ผลิตหน้ากากอนามัย 3M หน้ากากอนามัยจะกรองละอองธุลีในทางอุตสาหกรรม แต่จะ "ไม่ก่อให้เกิดการจำกัดการสัมผัสกับชีวสาร อย่างเช่น ไวรัสไข้หวัดใหญ่ในสุกร"
อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าจะปราศจากหลักฐานสนับสนุนถึงประสิทธิภาพ การใช้หน้ากากอนามัยปรากฏทั่วไปในทวีปเอเชีย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ได้รับความนิยมในญี่ปุ่น ที่ซึ่งนิยมความสะอาดและอนามัยอย่างสูง และเป็นมารยาทสำหรับผู้ที่ป่วยจะสวมหน้ากากเพื่อหลีกเลี่ยงการแพร่เชื้อให้กับบุคคลอื่น ในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2552 เนื่องจากมีความต้องการในระดับสูง ทำให้หน้ากากอนามัยหมดไปจากห้างขายยาบางแห่งในญี่ปุ่น ถึงแม้ว่าในประเทศจะมีผู้ผลิตหน้ากากอนามัยกว่า 42 รายก็ตาม ซึ่งทำให้เกิดกระแสนิยมการผลิตหน้ากากอนามัยจากวัตถุดิบอื่นในทันที จีนตอบสนอง โดยมีการบริจาคหน้ากากอนามัยจากเซี่ยงไฮ้ เทียนจิน และมณฑลกวางตุ้ง เพื่อส่งให้กับโอซากา โกเบ และจังหวัดเฮียวโงะตามลำดับ เช่นเดียวกับไต้หวัน ซึ่งบริจาคหน้ากากอนามัยให้แก่โอซากาและเฮียวโงะ
หลายประเทศได้ริเริ่มการกักกันโรคหรือขู่นักเดินทางจากต่างประเทศซึ่งสงสัยว่าจะมีหรือได้รับการติดต่อกับผู้อื่นซึ่งอาจติดเชื้อ เมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2552 รัฐบาลจีนกักตัวนักเรียนอเมริกัน 21 คน และครู 3 คนในห้องโรงแรมของตน กระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐอเมริกาจึงออกคำเตือนการเดินทางเกี่ยวกับมาตรการป้องกันไข้หวัดใหญ่ของจีน และเตือนนักเดินทางซึ่งเดินทางไปยังจีนให้หากมีอาการไข้หวัด ในฮ่องกง มีโรงแรมแห่งหนึ่งซึ่งถูกกักกันโรค โดยมีผู้อาศัยอยู่กว่า 240 คน ออสเตรเลียได้สั่งมิให้เรือสำราญ ซึ่งมีผู้โดยสารกว่า 2,000 คน ขึ้นฝั่ง เนื่องจากมีความเสี่ยงต่อไข้หวัดใหญ่ในสุกร ชาวมุสลิมอียิปต์ ผู้ซึ่งเดินทางไปแสวงบุญประจำปี ณ เมกกะ เสี่ยงถูกกักกันโรคเมื่อพวกเขาเดินทางกลับประเทศรัสเซียและไต้หวันแถลงว่าจะกักกันโรคผู้ที่มีอาการไข้ซึ่งเดินทางมาจากพื้นที่ระบาดในปัจจุบัน ญี่ปุ่นได้กักกันโรคผู้โดยสารของสายการบิน 47 คนในโรงแรม เป็นเวลาหนึ่งสัปดาห์ เมื่อกลางเดือนพฤษภาคม จากนั้น เมื่อกลางเดือนมิถุนายน อินเดียได้เสนอให้มีการกรองผู้โดยสารขาออกจากประเทศซึ่งมีการระบาดในระดับสูง
ไวรัสโรคระบาดในปัจจุบันเป็นไข้หวัดใหญ่ในสุกรชนิดหนึ่ง สันนิษฐานว่ากำหนดมาจากสายพันธุ์ไข้หวัดใหญ่ซึ่งอาศัยอยู่ในสุกร จากแหล่งที่มาดังกล่าว ทำให้มีการเรียกชื่อโดยทั่วไปว่า "ไข้หวัดหมู" ซึ่งเป็นคำที่ใช้กันมาในการสื่อสารมวลชน ไวรัสดังกล่าวค้นพบในสุกรในสหรัฐอเมริกา และแคนาดา เช่นเดียวกับสุกรในไอร์แลนด์เหนือ อาร์เจนตินา และนอร์เวย์ อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าจะถือกำเนิดในสุกร สายพันธุ์ดังกล่าวก็สามารถติดต่อจากคนสู่คน มิใช่จากสุกรสู่คน กระทรวงการเกษตรของสหรัฐอเมริกาอธิบายให้ชัดเจนว่า ถึงแม้ว่าชื่อโดยสามัญจะเรียกว่า "ไข้หวัดหมู" ก็ตาม แต่ไม่มีความเสี่ยงติดเชื้อไข้หวัดจากการรับประทานผลิตภัณฑ์จากเนื้อสุกรที่ปรุงสุกแล้ว อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2552 อาร์เซอร์ไบจานได้สั่งห้ามการนำเข้าผลิตภัณฑ์จากการเลี้ยงสัตว์จากทวีปอเมริกา รัฐบาลอินโดนีเซียยังได้สั่งชะลอการนำเข้าสุกรและยังเริ่มการตรวจสอบสุกร 9 ล้านตัวในอินโดนีเซีย ส่วนรัฐบาลอียิปต์สั่งฆ่าสุกรทุกตัวในประเทศเมื่อวันที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2552
มีหลายวิธีซึ่งได้แนะนำให้ผู้ป่วยปฏิบัติเพื่อบรรเทาอาการของโรค รวมทั้งการบริโภคน้ำและพักผ่อนอย่างเพียงพอ ยาบรรเทาอาการปวดที่ซื้อมารับประทานเอง เช่น พาราเซตามอลและไอบูโปรเฟน ไม่สามารถฆ่าไวรัสได้ อย่างไรก็ตาม ยาบรรเทาอาการปวดดังกล่าวอาจช่วยลดอาการของโรคได้ แต่ไม่แนะนำให้รับประทานแอสไพรินและผลิตภัณฑ์ซาลิไซเลตอื่น ๆ สำหรับทุกคน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 19 ปี เพราะอาจเสี่ยงเกิดกลุ่มอาการเรย์ (Reye syndrome) แต่สำหรับผู้ที่มีเพียงไข้ต่ำๆ และไม่มีอาการแทรกซ้อนอื่น ไม่ควรรับประทานยาบรรเทาไข้ คนส่วนใหญ่สามารถฟื้นตัวจากอาการไข้ได้เองโดยไม่ต้องใช้วิธีการทางการแพทย์ อย่างไรก็ตาม ในผู้ที่มีโรคประจำตัวหรือมีภูมิคุ้มกันต่ำอาจต้องเข้ารับการรักษาเพิ่มเติม
สำหรับผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงควรได้รับยาต้านไวรัส (โอเซลทามิเวียร์และซานามิเวียร์) โดยเร็วที่สุด เมื่อมีการแสดงอาการไข้หวัดใหญ่เป็นครั้งแรก ผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงดังกล่าวรวมไปถึงสตรีมีครรภ์และสตรีหลังคลอดบุตร เด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี และผู้สุขภาพไม่ดี เช่น มีปัญหาในระบบหายใจ สำหรับผู้ที่มิได้อยู่ในกลุ่มเสี่ยงแต่มีอาการคงที่หรือทรุดลงเรื่อย ๆ ควรได้รับยาต้านไวรัสเช่นกัน อาการดังกล่าวรวมไปถึงการหายใจลำบาก และมีไข้ขึ้นสูงซึ่งกินเวลานานกว่า 3 วัน ในผู้ที่มีอาการปอดอักเสบควรได้รับทั้งยาต้านไวรัสและยาปฏิชีวนะ เช่นเดียวกับในผู้ป่วยรุนแรงซึ่งติดเชื้อไวรัส เอช 1 เอ็น 1 หลายกรณี การติดเชื้อแบคทีเรียจะพัฒนาขึ้น ยาต้านไวรัสจะเป็นประโยชน์มากที่สุดหากให้ผู้ป่วยภายในระยะเวลา 48 ชั่วโมงหลังเริ่มแสดงอาการของโรค และอาจช่วยบรรเทาอาการได้ในผู้ป่วยที่เข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล ในผู้ที่มีอาการปานกลางหรือร้ายแรง หากให้ภายหลัง 48 ชั่วโมง ยาต้านไวรัสอาจยังคงเป็นประโยชน์ได้ ถ้าไม่สามารถหาโอเซลทามิเวียร์ (ทามิฟลู) หรือไม่สามารถใช้ได้ มีการแนะนำให้ใช้ซานามิเวียร์ (รีเลนซา) แทน เพราะเพรามิเวียร์เป็นยาต้านไวรัสที่อยู่ระหว่างการทดลองจะได้รับอนุมัติให้ใช้ในผู้ป่วยที่เข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลในกรณีซึ่งการรักษาด้วยวิธีอื่นไม่มีประสิทธิภาพหรือไม่สามารถจัดให้ได้
เพื่อหลีกเลี่ยงการขาดแคลนยาดังกล่าว CDC แนะนำว่า การรักษาโดยโอเซลทามิเวียร์ควรจะใช้สำหรับผู้รับการรักษาในโรงพยาบาลด้วยไข้หวัดใหญ่ระบาดทั่วเป็นหลัก; ผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงต่อภาวะไข้หวัดใหญ่แทรกซ้อนร้ายแรงเนื่องจากภาวะร่างกายที่ไม่สมบูรณ์ และผู้ป่วยซึ่งเสี่ยงต่อภาวะไข้หวัดใหญ่แทรกซ้อนร้ายแรง CDC เตือนว่า การใช้ยาต้านไวรัสโดยไม่แบ่งแยกว่าใช้เพื่อป้องกันหรือรักษาโรคอาจทำให้เกิดสายพันธุ์ดื้อยา ซึ่งทำให้การรับมือกับการระบาดทั่วเป็นไปได้ยากขึ้น นอกเหนือจากนั้น รายงานของอังกฤษพบว่า คนส่วนใหญ่มักจะไม่ได้รับยาตามกำหนดหรือได้รับการรักษาโดยไม่มีความจำเป็น
ในการใช้ยาทั้งสองแบบอาจมีผลข้างเคียง รวมทั้งอาการหน้ามืด คลื่นเหียน อาเจียน เบื่ออาหาร และหายใจลำบาก มีรายงานว่าเด็กอาจมีความเสี่ยงสูงขึ้นบาดเจ็บและภาวะมึนงงหลังจากได้รับโอเซลทามิเวียร์ องค์การอนามัยโลกยังได้ออกมาเตือนมิให้ซื้อยาต้านไวรัสจากตลาดออนไลน์ และประมาณการว่าครึ่งหนึ่งของยาดังกล่าวจำหน่ายโดยร้านยาออนไลน์ ซึ่งไม่มีที่อยู่ปรากฏชัดเจนและเป็นร้านปลอม
จนถึงเดือนมกราคม พ.ศ. 2553 องค์การอนามัยโลกออกมารายงานจำนวนตัวอย่าง 190 ตัวอย่าง จากทั้งหมดมากกว่า 15,000 ตัวอย่าง ของการทดสอบไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ทั่วโลก ได้แสดงให้เห็นว่า เชื้อมีภูมิต้านทานต่อโอเซลทามิเวียร์ (ทามิฟลู) เช่นเดียวกับไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์เอช 1 เอ็น 1 ตามฤดูกาล ซึ่งจากการทดสอบแล้วพบว่า ตัวอย่างเกือบทั้งหมดกว่า 99.6% ได้พัฒนาภูมิคุ้มกันต่อโอเซลทามิเวียร์ อย่างไรก็ตาม ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ยังไม่แสดงภูมิคุ้มกันต่อซานามิเวียร์และยาต้านไวรัสอื่นที่หาได้ในปัจจุบัน
เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2552 องค์กรความร่วมมือคอเครน (Cochrane Collaboration) ซึ่งทำหน้าที่ตรวจสอบหลักฐานทางการแพทย์ ประกาศว่าในการตรวจสอบซึ่งได้รับการตีพิมพ์ในวารสารการแพทย์ของอังกฤษว่า จากการสำรวจใหม่พบว่าได้ผลตรงกันข้ามกับผลการสำรวจเดิมที่ว่า ยาต้านไวรัส โอเซลทามิเวียร์ (ทามิฟลู) และซานามิเวียร์ (รีเลนซา) สามารถป้องกันอาการปอดอักเสบและอาการร้ายแรงอื่นซึ่งเชื่อมโยงกับไข้หวัดใหญ่ พวกเขาได้รายงานว่าผลจากการวิเคราะห์การศึกษากว่า 20 ชิ้น ได้แสดงว่า โอเซลทามิเวียร์อาจเป็นประโยชน์เล็กน้อยสำหรับผู้ใหญ่ซึ่งมีสุขภาพดี และได้รับภายในเวลา 24 ชั่วโมงหลังเริ่มแสดงอาการของโรค แต่ยังไม่พบหลักฐานชัดเจนว่ามันจะสามารถป้องกันการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจหรือภาวะแทรกซ้อนจากไข้หวัดใหญ่ อย่างไรก็ตาม นอกเหนือจากผลการศึกษาที่เกี่ยวข้องกับการใช้โอเซลทามิเวียร์ในผู้ติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ในผู้ใหญ่สุขภาพดี แต่ไม่มีผลการศึกษาเกี่ยวกับการใช้โอเซลทามิเวียร์ในผู้ป่วยซึ่งถูกพิจารณาว่ามีความเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนสูง (เช่น สตรีมีครรภ์ เด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี และผู้ซึ่งมีโรคประจำตัว) และความไม่แน่นอนเกี่ยวกับบทบาทของมันในการช่วยลดภาวะแทรกซ้อนในผู้ใหญ่สุขภาพดี ซึ่งอาจมีความจำเป็นที่จะต้องคงการใช้ในฐานะยาที่มีประโยชน์ในการลดระยะเวลาในการแสดงอาการของโรค ในที่สุด ยาต้านไวรัสอาจแสดงให้เห็นถึงประสิทธิภาพในการป้องกันภาวะแทรกซ้อนที่เกี่ยวกับไข้หวัดใหญ่; โดยทั่วไปแล้วองค์กรความร่วมมือคอเครนได้สรุปในสิ่งที่ "ขาดแคลนข้อมูลที่ดี"
ผลจำเพาะบางอย่างจากบทความวารสารการแพทย์อังกฤษรวมไปถึง "ประสิทธิภาพของโอเซลทามิเวียร์แบบรับประทานแสดงอาการในไข้หวัดใหญ่ซึ่งได้รับการรับรองจากห้องปฏิบัติการอยู่ที่ 61% (อัตราความเสี่ยง 0.39, 95% ช่วงความเชื่อมั่น 0.18-0.85) ที่ 75 มิลลิกรัมต่อวัน [...] หลักฐานที่เหลือแนะว่าโอเซลทามิเวียร์มิได้ลดภาวะแทรกซ้อนในระบบหายใจ (อัตราความเสี่ยง 0.55, ช่วงความเชื่อมั่น 95% 0.22-1.35)"
ในปัจจุบันยังไม่เป็นที่ทราบกันแน่ชัดว่าเชื้อไวรัสดังกล่าวมีจุดเริ่มต้นมาจากที่ไหนหรือเมื่อไหร่ การวิเคราะห์ในวารสารทางวิทยาศาสตร์ได้เสนอว่าไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ เอช 1 เอ็น 1 ซึ่งเกิดการระบาดอยู่ในปัจจุบันนั้น มีการพัฒนามาจากสายพันธุ์ที่ค้นพบเมื่อเดือนกันยายน พ.ศ. 2551 และแพร่สู่มนุษย์เป็นเวลาหลายเดือนก่อนที่จะมีการรับรองอย่างเป็นทางการ และถูกระบุว่าเป็นไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่
มีรายงานการค้นพบไวรัสสายพันธุ์ดังกล่าวในเด็กชาวอเมริกันสองคนเมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. 2552 แต่หน่วยงานสาธารณสุขรายงานว่าปรากฏผู้ติดเชื้อรายแรกเมื่อเดือนมกราคม พ.ศ. 2552 ในประเทศเม็กซิโก การระบาดสามารถตรวจพบได้เป็นครั้งแรกในกรุงเม็กซิโกซิตี เมื่อวันที่ 18 มีนาคม พ.ศ. 2552 ซึ่งรัฐบาลเม็กซิโกได้ทำการ "ปิดกรุงเม็กซิโกซิตีอย่างมีประสิทธิภาพ" โดยก่อนหน้านี้ เม็กซิโกมีผู้ป่วยกรณีที่ไม่รุนแรงก่อนหน้าการค้นพบอย่างเป็นทางการแล้วหลายร้อยคน และกำลังอยู่ในช่วง "โรคระบาดทั่วเงียบ" จึงส่งผลให้เม็กซิโกรายงานเพียงผู้ป่วยกรณีที่มีอาการรุนแรงซึ่งแสดงอาการของโรคหนักกว่าไข้หวัดใหญ่ธรรมดาเท่านั้น ซึ่งอาจนำไปสู่การคำนวณอัตราการเสียชีวิตที่ผิดพลาด
ข้อมูลการสอดส่องดูแลไข้หวัดใหญ่ "ตอบคำถามที่ว่าไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์อะไรกำลังระบาด ระบาดที่ไหน และเมื่อไหร่ มันยังสามารถใช้แสดงผลกิจกรรมของไข้หวัดใหญ่ว่าเพิ่มขึ้นหรือลดลง แต่ไม่สามารถใช้ระบุอย่างชัดเจนได้ว่ามีคนจำนวนเท่าใดที่ติดเชื้อไข้หวัดใหญ่" ยกตัวอย่างเช่น เมื่อปลายเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2552 ข้อมูลการสอดส่องดูแลไข้หวัดใหญ่แสดงให้เห็นว่าสหรัฐอเมริกามีผู้ป่วยที่ได้รับการรับรองจากห้องปฏิบัติการกว่า 28,000 คน โดย 3,065 คน เข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาล และมีผู้เสียชีวิต 127 คน แต่จากการสร้างตัวแบบทางคณิตศาสตร์ได้แสดงให้เห็นว่ามีชาวอเมริกันติดเชื้อแล้วอย่างน้อย 1 ล้านคน จากการศึกษาของลินน์ ฟิเนลลี เจ้าหน้าที่สอดส่องดูแลไข้หวัดใหญ่กับ CDC ประมาณการผู้เสียชีวิตจากไข้หวัดใหญ่ยังเป็นกระบวนการที่ซับซ้อน ในปี พ.ศ. 2548 มีผู้ที่อาศัยในสหรัฐอเมริกาเพียง 1,812 คน ที่มีไข้หวัดใหญ่เป็นสาเหตุการเสียชีวิต และระบุในใบมรณบัตร อย่างไรก็ตาม ประมาณการผู้เสียชีวิตจากไข้หวัดใหญ่กลับอยู่ที่ราว 36,000 คนต่อปี CDC อธิบายว่า "... ไม่บ่อยนักที่ไข้หวัดใหญ่จะถูกระบุไว้ในใบมรณบัตรของผู้ที่เสียชีวิตด้วยอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่" และนอกเหนือจากนั้น "การนับเฉพาะผู้เสียชีวิตด้วยไข้หวัดใหญ่ตามที่ระบุในมรณบัตรจะเป็นการประมาณการที่ผิดพลาดอย่างมากในการศึกษาผลกระทบที่แท้จริงของไข้หวัดใหญ่"
ในการศึกษาการระบาดของไข้หวัดใหญ่ในปัจจุบัน มีข้อมูลการสอดส่องดูแลไข้หวัดใหญ่ที่สามารถเรียกดูได้ แต่ยังแทบจะไม่มีการศึกษาที่พยายามประมาณการจำนวนผู้เสียชีวิตทั้งหมดอันเนื่องมาจากไข้หวัดใหญ่ในสุกร มีการศึกษาสองชิ้นของ CDC อย่างไรก็ตาม ประมาณการผู้เสียชีวิตที่ใหม่ที่สุดระบุว่าอยู่ที่ 9,820 คน (พิสัยระหว่าง 7,070-13,930 คน) โดยนับจากเดือนเมษายนถึงวันที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552 ในขณะเดียวกัน ประกาศจำนวนผู้เสียชีวิตอย่างเป็นทางการจากไข้หวัดใหญ่ในสุกรอยู่ที่ 1,642 คน องค์การอนามัยโลกจึงกล่าวว่าจำนวนผู้เสียชีวิตจากไข้หวัดใหญ่ในสุกรที่แท้จริงนั้น "สูงกว่าตัวเลขดังกล่าว"
การระบาดในช่วงแรกอยู่ภายใต้ความสนใจของสื่ออย่างใกล้ชิด นักวิทยาการระบาดเตือนว่าจำนวนผู้ป่วยที่รายงานในช่วงแรกของการระบาดมีความไม่แม่นยำอย่างมากและสามารถลวงได้ เนื่องจากหลายสาเหตุ เช่น อคติการเลือก อคติของสื่อ และการรายงานที่ผิดพลาดของรัฐบาล ความไม่แม่นยำดังกล่าวยังอาจเกิดจากหน่วยงานรัฐบาลในแต่ละประเทศอาจสังเกตกลุ่มประชากรที่แตกต่างกันด้วย นอกเหนือจากนั้น ประเทศที่มีระบบสาธารณสุขที่มีคุณภาพต่ำหรือมีห้องปฏิบัติการที่ไม่ทันสมัยอาจใช้เวลานานกว่าในการระบุและรายงานผู้ป่วยอีกด้วย ซึ่ง "... แม้แต่ในประเทศพัฒนาแล้ว [จำนวนผู้เสียชีวิตจากไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009] ยังไม่สามารถระบุได้แน่ชัด เนื่องจากหน่วยงานด้านสาธารณสุขมักไม่ค่อยพิสูจน์ผู้ที่เสียชีวิตจากไข้หวัดใหญ่และอาการป่วยคล้ายไข้หวัดใหญ่อย่างจริงจัง" ดร. โจเซฟ เอส. บรีซี และ ดร. มิเชล ที. ออสเตอร์โฮล์ม ชี้ว่ามีผู้ป่วยด้วยไข้หวัดใหญ่ในสุกรหลายล้านคน ส่วนใหญ่แสดงอาการอ่อน ๆ ดังนั้นจำนวนผู้ป่วยที่รายงานจากห้องปฏิบัติการจึงหมดความหมาย และในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2552 องค์การอนามัยโลกจึงหยุดนับจำนวนผู้ป่วยและหันไปให้ความสนใจกับการระบาดขนานใหญ่แทน
อ่านบทความฉบับสมบูรณ์ได้ที่ http://th.wikipedia.org/wiki/การระบาดของไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่_2009